จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

อ.อ.ป.ทำก๊าซชีวภาพจากมูลช้างเป็นพลังงานทดแทน" ~*

อ.อ.ป.ทำก๊าซชีวภาพจากมูลช้างเป็นพลังงานทดแทน


 
     ระบบก๊าซชีวภาพจากมูลช้าง เป็นการดำเนินงานโดย กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ณ สถาบันคชบาลแห่งชาติ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) ต.เวียงตาล อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เนื่องจากช้างต้นมีช้างสำคัญจำนวน 6 ช้าง มีมูลประมาณวันละ 250-300 กิโลกรัม และที่โรงเลี้ยงช้าง ซึ่งมีช้างสำหรับลานแสดงจำนวน 50 เชือก สามารถเก็บมูลได้วันละประมาณ 1,500-2,000 กก. ซึ่งเมื่อมีปริมาณมูลช้างที่ต้องจัดการเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันความต้องการใช้พลังงานก็เพิ่มมากขึ้นด้วย ฉะนั้น จึงนำระบบก๊าซชีวภาพมาแก้ไขปัญหาทำให้ได้พลังงานในรูปของก๊าซชีวภาพ
     อันว่า “ก๊าซชีวภาพ” ที่ได้จากมูลช้างนี้ เป็นพลังงานสะอาดที่เกิดจากการนำมูลช้างมาผ่านกระบวนการหมัก เพื่อให้เกิดการย่อยสลายสารอินทรีย์ในสภาวะไร้ออกซิเจนโดยแบคทีเรียหลายชนิด เมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสมแบคทีเรียจะเจริญเติบโตและย่อยสลายสารอินทรีย์ เช่น โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน จนที่สุดเปลี่ยนสภาพเป็นก๊าซชีวภาพ

     องค์ประกอบหลักของก๊าซชีวภาพมี ก๊าซมีเธนประมาณร้อยละ 50-75 ซึ่งเป็นก๊าซที่ติดไฟจึงนำไปใช้เป็นพลังงานทดแทน
     กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ดำเนินการจัดตั้งระบบก๊าซชีวภาพจากมูลช้างเพื่อการหุงต้มอาหารและเดินเครื่องยนต์สูบน้ำขนาด 50 ลูกบาศก์เมตร 1 บ่อ และขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร 1 บ่อ ณ โรงช้างต้นและจัดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลช้างเพื่อการเดินเครื่องยนต์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร 2 บ่อ ณ โรงเลี้ยงช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย โดยโครงสร้างของระบบประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ดังนี้....

 
1.บ่อเติมมูล เป็นที่ผสมมูลช้างที่ผ่านการปั่นให้เส้นใยมีขนาดเล็กลงแล้วผสมกับน้ำให้เข้ากัน หลังจากนั้นมูลที่ผสมกันดีแล้วจะถูกปล่อยสู่บ่อหมักผลิตก๊าซทางท่อที่เชื่อมต่อระหว่างบ่อเติมมูลกับบ่อหมักผลิตก๊าซ


2. บ่อหมักผลิตก๊าซ เป็นบ่อที่กักเก็บมูลช้าง ซึ่งภายในบ่อมีเชื้อตะกอนแบคทีเรียที่ทำให้เกิดก๊าซได้ บ่อจะต้องแข็งแรงและไม่รั่วซึม เนื่องจากส่วนโดมของบ่อจะเป็นที่เก็บก๊าซที่เกิดขึ้นก่อนการนำไปใช้


3. บ่อมูลล้น มีหน้าที่รับมูลช้างที่ล้นมาจากบ่อหมักผลิตก๊าซ


4. บ่อแยกกากมูลช้าง เป็นที่รองรับมูลช้างที่ออกมาจากบ่อมูลล้น ก่อนส่วน ที่เป็นน้ำจะไหลลงบ่อน้ำทิ้ง ซึ่งกากมูลช้างที่แยกออกมาได้นี้ สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยอัดแท่งเพาะชำและทำกระดาษได้


5. บ่อพักน้ำเสีย เป็นบ่อที่รองรับน้ำหลังจากที่กากมูลช้างได้ถูกแยกออกไปแล้ว ซึ่งน้ำจากบ่อนี้สามารถนำไปใช้เป็นปุ๋ยน้ำรดพืช ผัก ได้เป็นอย่างดี และยังสูบกลับไปใช้ในการผสมกับมูลช้างเพื่อเติมลงในบ่อหมักผลิตก๊าซ


        สำหรับผลการดำเนินงานการจัดตั้งระบบฯขนาด 50 ลูกบาศก์เมตรนั้น พบว่ามีประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ 84% อัตราการเกิดก๊าซชีวภาพ 8 ลูกบาศก์เมตร/วัน ส่วนขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร ณ โรงช้างต้น พบว่ามีประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ 90% อัตราการเกิดก๊าซ 18 ลูกบาศก์เมตร/วัน และการจัดตั้งระบบฯขนาด 100 ลูกบาศก์เมตร 2 บ่อ ณ โรงเลี้ยงช้างพบว่ามีประสิทธิภาพการย่อยสลายสารอินทรีย์ 91%อัตราการเกิดก๊าซ 36 ลูกบาศก์เมตร/วัน ทำให้สามารถผลิตก๊าซชีวภาพรวม 62 ลูกบาศก์เมตร/วัน หรือ 22,630 ลูกบาศก์เมตร/ปี สามารถทดแทนน้ำมันดีเซลได้ประมาณ 13,578 ลิตร/ปี หรือผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 22,630 กิโลวัตต์-ชั่วโมง/ปี
     จากผลสำเร็จของโครงการก๊าซชีวภาพทำให้ได้รับรางวัลดีเด่นด้านพลังงานและพลังงานหมุนเวียนประเภท off-grid (โครงการใน ไม่เชื่อมโยงกับสายส่งไฟฟ้า) ของประเทศไทยประจำปี 2547 จากกระทรวงพลังงาน และได้รับรางวัลดังกล่าวในระดับอาเซียนอีกด้วย.


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547


http://www.dailynews.co.th/agriculture/each.asp?newsid=39843

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น