จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2553

แก๊ส"มูลช้าง" ประโยชน์จากเจ้าตัวโต

คอลัมน์ สดจากประชาสังคม
เกรียงไกร ปัญโญกาศ




   * หมู่บ้านรวมมิตร หมู่ 2 ต.แม่ยาว อ.เมือง จ.เชียงราย ได้ชื่อว่าเป็นหมู่บ้าน "ช้าง" เนื่องเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง เลี้ยงช้างกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ปัจจุบันมีช้างเลี้ยงประมาณ 35 เชือก แม้ว่าทุกวันนี้การใช้ประโยชน์จากช้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่ใช้เพื่อชักลากไม้ หันมาสร้างปางช้างริมฝั่งแม่น้ำกก รับนักท่องเที่ยวชมไพรทุกวัน โดยเฉพาะฤดูท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวไปเยือนจำนวนมาก สร้างรายได้ให้กับควาญช้างตามมา
  
    อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช้างเป็นสัตว์ใหญ่ กินอาหารจำนวนมากในแต่ละวัน ดังนั้น เมื่อไปชุมนุมกันอยู่ที่จุดเดียวกัน ถ่ายมูลออกมา ย่อมสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณ
   * โดยช้าง 1 เชือก ถ่ายมูลออกมาวันละ 40-50 กิโลกรัม ช้างจำนวน 35 เชือก มูลที่ถ่ายออกมาจึงมีมากเป็นตันๆ ตกค้างอยู่ในปางช้าง สร้างมลพิษ ยากต่อการกำจัด  หากแต่เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน นายบุญห่วง ภัทรเชาว์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านรวมมิตร ภายในหมู่บ้านดังกล่าว ชี้แนะให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับช้างในทุกแง่มุมตามแนวทางหลักสูตรท้องถิ่น พร้อมจัดทำโครงงานเรื่อง "แก๊สมูลช้าง"


    นักเรียนจำนวน 373 คนของโรงเรียน ร่วมกันผลิตแก๊สมูลช้างตามโครงงานนำมูลช้างที่เรี่ยราดไปหมักในถังน้ำมัน 200 ลิตร นาน 2 เดือนจึงได้แก๊ส แล้วต่อท่อออกมา พบว่าแก๊สมีเทนที่ได้สามารถต่อกับหัวแก๊สหุงต้มจุดไฟ
  
    * ปัจจุบันองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แม่ยาว และกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ยื่นมือเข้าสนับสนุนโรงเรียนจนสามารถสร้างบ่อหมักแก๊สมูลช้างขนาดใหญ่
   สร้างเป็นรูปโดมครึ่งวงกลมลึก 210 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 480 เซนติเมตร บรรจุแก๊สได้กว่า 16 ลูกบาศก์เมตร หลังจากหมักนาน 2 เดือนก็จะได้แก๊สมีเทน ที่ต่อท่อพีวีซีออกมาสู่ท่อแก๊สหุงต้มและใช้หุงต้มอาหารกลางวันสาหรับนักเรียนได้ตลอดทั้งปี
   สามารถเติมมูลช้างในบ่อได้ตลอด เนื่องจากวัตถุดิบมีเหลือเฟือ ทั้งแก๊สชนิดนี้ยังสามารถต่อท่อเข้าไปยังตะเกียงเจ้าพายุให้แสงสว่างในยามค่ำคืนได้อีกด้วย
  
   * ผลสำเร็จและวัตถุดิบจากมูลช้างที่ล้นเหลือ ทำให้ชาวบ้านและโรงเรียนร่วมกันขยายบ่อหมักแก๊สมูลช้างเข้าไปยังตัวหมู่บ้าน โดยใช้รูปแบบจากโรงเรียนเป็นต้นแบบ หวังว่าชาวบ้านจะได้ใช้ประโยชน์
   ขณะเดียวกัน ก็ช่วยกำจัดของเสียภายในชุมชนประหยัดพลังงานและลดค่าใช้จ่ายจากการซื้อแก๊สหุงต้มหรือถ่าน รวมทั้งการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อทำฟืนด้วย ปัจจุบันมีการขุดบ่อขนาด 16 ลูกบาศก์เมตรเช่นเดียวกันไว้ตามจุดต่างๆ ของหมู่บ้านจำนวน 9 บ่อ แบ่งกลุ่มกันดูแลเป็นกลุ่มๆ


   * นายบุญห่วง กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านมีอยู่รวมกันประมาณ 200 ครัวเรือน แบ่งกลุ่มกันทำบ่อหมักแก๊สมูลช้างจำนวน 9 บ่อ บรรจุมูลช้างในอัตรา 1 ต่อ 1 กับน้ำและน้ำจุลินทรีย์ตามสัดส่วน ต่อท่อออกไป 3 รู สำหรับเชื่อมไปยังบ่อเติมมูลช้าง บ่อน้ำล้นและบ่อกากมูลช้างที่เหลือใช้อีก 2-3 เดือน หรือราวเดือนต.ค.ปีนี้ก็จะได้แก๊สมีเทนเหมือนกับที่เราใช้ประโยชน์ในโรงเรียนในปัจจุบัน นอกจากได้พลังงานแก๊สใช้ฟรีๆ เกิดการเรียนรู้ รักช้าง และรู้รักสามัคคีกันภายในหมู่บ้านด้วย
  
   "ปัจจุบันโรงเรียนต่อยอดจากโครงการแก๊สมูลช้าง ด้วยการนำกากมูลช้างที่เหลือจากการหมักไปทำเป็นหัวเชื้อหมักปุ๋ยชีวภาพมูลช้าง จากส่วนผสม ได้หัวเชื้อชั้นดี นำไปผสมดิน ได้ปุ๋ยคุณภาพดี จากนั้นบรรจุใส่ถุงพลาสติกขนาด 5 กิโลกรัม ติดตราชื่อหัวเชื้อปุ๋ย ชีวภาพช้างอารมณ์ดีจำหน่ายถุงละ 15 บาท เราขายได้ 5-6 เดือนแล้วรายได้ก็นำไปช่วยโครงการของเด็กนั่นเอง" นายบุญห่วงกล่าวและว่า ชาวบ้านที่มีบ่อแก๊สมูลช้างทั้ง 9 บ่อสามารถทำได้เช่นเดียวกัน และทำกันได้ทั้งหมู่บ้าน
  * นายอิแสะ แซวา ประธานชมรมปางช้างบ้านรวมมิตร กล่าวว่า ช่วงนอกฤดูกาลมีนักท่องเที่ยวไปใช้บริการนั่งช้างชมหมู่บ้าน ล่องแม่น้ำกกและชมป่า วันละประมาณ 40-50 คน หากเป็นช่วงฤดูร้อนหรือฤดูหนาวจะมีนักท่องเที่ยวไป เยือนวันละถึง 100 คนขึ้นไป นับเป็นเรื่องน่ายินดีที่มูลช้างจากปางช้างสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
    ถึงตอนนี้กรมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีการจัดสรรงบประมาณผ่านทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด
(อบจ.) เชียงราย และอบต.แม่ยาว เพื่อสนับสนุนชาวบ้านรวมมิตรสร้างบ่อหมักแก๊สมูลช้างบ่อละ 39,000 บาท ขณะที่กระทรวงพลังงานจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลและให้คำปรึกษา
    ด้วยความสามารถในการประยุกต์ใช้ นำสิ่งของไร้ค่าในท้องถิ่นมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ขณะเดียวกัน ก่อให้เกิดความรักสามัคคีระหว่างคนในชุมชน ผูกพันไปถึงความรักและเห็นคุณค่าของช้างไทย ที่น่าจะนำไปเป็นตัวอย่างนำร่องสำหรับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป




Ref. http://www.matichon.co.th/khaosod/kh...day=2006/09/23

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น