จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2553

มูลช้าง


มูลช้าง



                   ของบางอย่างที่เราเห็นว่าเป็นสิ่งปฏิกูลและไร้ค่านั้น แท้จริงแล้วสิ่งของบางอย่างอาจมีประโยชน์มากมายจนเราคิดไม่ถึง เมื่อคราวที่ฉันได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมโครงการส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อ พ.ศ.2530 มีเรื่องหนึ่งที่จำได้มิรู้ลืมได้แก่เรื่องมูลของช้าง ตอนนั้นไม่เห็นช้างแต่ได้เห็นโรงแปรรูปมูลช้างและเห็นมูลช้างที่แปรรูปแล้ว แต่เดิมนั้นในพระราชวังสวนดุสิตมีโรงช้างต้นแต่เพราะด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเล็งเห็นว่าในเขตพระราชวัง สวนจิตรลดานั้นมีหน่วยงานตามพระราชดำริมากขึ้น ทำให้มีบริเวณหรือพื้นที่ให้ช้างได้เดินออกกำลังน้อยเกินไปไม่เพียงพอ จึงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ย้ายช้างสำคัญไปอยู่ในโรงช้างหลวงที่จังหวัดลำปางและสกลนคร เพื่อให้ช้างเดินออกกำลังกาย และทดลองใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ โดยมีผู้ดูแลช้างสำคัญทุกช้าง โดยช่วงแรกย้ายไปไม่กี่ช้างก่อน และให้มีการถวายรายงานการปรับตัวของช้างเป็นประจำ จนกระทั่งเวลาผ่านไปหลายปี จึงย้ายไปทั้งหมด ส่วน คุณพระเศวตใหญ่ฯนั้น ได้ถูกนำไปไว้ในพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคิรีขันธ์ ตามพระราชประเพณีที่ช้างเผือกสำคัญประจำรัชกาลจะต้องอยู่ใกล้พระเจ้าแผ่นดินเพื่อความเป็นศิริมงคล


เจ้าหน้าที่บรรยายว่าตามปกติช้างทั่วไปจะกินอาหารประมาณ 10% ของน้ำหนักตัว ดังนั้นใน 1 วัน จะกินอาหารเฉลี่ยตัวละ 200 – 250 กิโลกรัม สำหรับอาหารของช้างก็จะเป็นพวกหญ้า กล้วย ประมาณ30-40 หวี อ้อย 5-10 ลำยาว และจะมีพวกอาหารเสริมและเกลือแร่ด้วย เป็นธรรมดาของสิ่งมีชีวิต เมื่อกินก็ต้องขับถ่าย เป็นธรรมดาเมื่อกินมากก็ขับถ่ายมาก ด้วยเรื่องมูลช้างที่มีจำนวนมากนี้ ด้วยพระปรีชาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชดำริให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า โดยการนำไปหมักเป็นแก๊สชีวภาพใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ จนเมื่อกระบวนการหมักสิ่นสุดลง หมดแก๊สและหมดกลิ่นเหม็นแล้วแต่กากใยของต้นหญ้าที่เป็นอาหารหลักของช้างยังคงเหลือเป็นเส้นสายที่มีลักษณะเฉพาะตัว(ในการทำกระดาษสา ต้องใช้พลังงานคนหรือเครื่องจักรในการตำหรือทุบเปลือกต้นสาให้แหลก ฉะนั้น ช้างจึงเป็นเครื่องบดเส้นใยพลังชีวภาพ) กากของมูลช้างได้ถูกนำมาแปรรูปต่อโดยนำไปทำเป็นกระดาษมูลช้างที่มีลักษณะคล้ายกระดาษสา แล้วก็นำไปแปรรูปต่อเป็นผลิตภัณฑ์จากกระดาษมูลช้างหลากหลายรูปแบบ(ขณะนั้นทราบว่าเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯเสด็จพระราชดำเนินไปต่างประเทศ ทรงนำผลงานนี้ไปเผยแพร่ด้วย ชาวต่างชาติเห็นเป็นของแปลกและเป็นที่ชื่นชอบ จนมียอดสั่งทำเข้ามามากมาย) และการทำกระดาษมูลช้างนี้ได้เป็นต้นแบบให้องค์กรที่เกี่ยวข้องในการเลี้ยงดูช้างได้นำไปทำผลิตภัณฑ์จากกระดาษมูลช้าง เป็นการเสริมรายได้อีกทาง เป็นหนทางการอยู่อย่างพอเพียงรูปแบบหนึ่ง


ที่มา     http://krupawana.igetweb.com/index.php?mo=3&art=421904
                                     

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น